ขายมอเตอร์ไซค์แล้วโดนเบี้ยวหนี้ เราจะตัดจำหน่ายเป็นหนี้สูญได้ไหม? : สถาบัน KASME อบรมบัญชีภาษี
ที่มา: ข้อหารือภาษีอากร,กรมสรรพากร
เลขที่หนังสือ: กค 0702/709
วันที่: 4 กุมภาพันธ์ 2565
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้
ข้อกฎหมายฯ: ข้อ 3 ข้อ 4 (2) และ 5 (2) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ
ปรับปรุงล่าสุด: 15-01-2024
ข้อหารือ:
บริษัท ก. ประกอบกิจการให้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ได้ฟ้องร้องลูกค้าของตนเป็น 2 ลักษณะ คือ การฟ้องลูกค้าในคดีแพ่ง เช่น สัญญาเงินกู้ สัญญาเช่าซื้อ เป็นต้น และการฟ้องลูกค้าในคดีอาญา โดยลูกค้ากระทำความผิดฐานฉ้อโกงหรือยักยอกทรัพย์ซึ่งมีมูลค่าหนี้เกิน 100,000 - 500,000 บาท บริษัทฯ ได้ใช้สิทธิ ตามมาตรา 40 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กล่าวคือ การฟ้องคดีแพ่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งศาลได้มีคำสั่งรับฟ้องคดีดังกล่าวแล้ว
บริษัท ก. จะสามารถใช้สิทธิในการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ตามข้อ 5 (2) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย:
การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ อาจพิจารณาได้ ดังนี้
1. กรณีบริษัท ก. ได้ทำสัญญาให้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์กับลูกค้า แต่ต่อมาลูกค้าได้นำรถจักรยานยนต์ไปจำนำ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อตกลงในสัญญาให้เช่าซื้อและเข้าลักษณะฐานความผิดฉ้อโกงหรือยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นเหตุให้บริษัท ก. ไม่ใช้สิทธิรับชำระหนี้จากลูกค้าหลังจากการทราบถึงเหตุดังกล่าว ซึ่งการผิดนัดชำระหนี้เนื่องจากการผิดสัญญานั้นเป็นมูลเหตุให้บริษัท ก. สามารถดำเนินการใช้สิทธิเรียกร้องในหนี้โดยการฟ้องร้องต่อศาลเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาได้
หนี้ที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดอาญาซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการผิดสัญญาเช่าซื้อ จึงเข้าลักษณะเป็นหนี้ที่เกิดจากการประกอบกิจการของบริษัท หากบริษัท ก. ได้นำหนี้ดังกล่าวไปรวมเป็นเงินได้ในการคำนวณกำไรสุทธิแล้ว #หนี้ดังกล่าวย่อมเข้าลักษณะเป็นหนี้สูญที่จะจำหน่ายจากบัญชีลูกหนี้ได้ ตามข้อ 3 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ
2. กรณีหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนไม่เกิน 500,000 บาท และเป็นกรณีของคดีลักทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอกตามมาตรา 43 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บริษัท ก. ได้ดำเนินการฟ้องลูกค้าของตนเป็นลูกหนี้ในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และศาลได้มีคำสั่งรับคำฟ้องนั้นไว้แล้ว หากในคดีดังกล่าวได้มีการเรียกทรัพย์สินหรือราคาตามจำนวนมูลหนี้ของลูกหนี้นั้นทั้งจำนวนตามมาตรา 43 ประกอบกับมาตรา 44 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกรรมการของบริษัท ก. ได้มีคำสั่งอนุมัติให้จำหน่ายหนี้นั้นเป็นหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ภายใน 30 วันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว บริษัท ก. #มีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นได้ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 5 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ
หากบริษัท ก. ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ที่ได้จำหน่ายหนี้สูญไปแล้ว บริษัท ก. ต้องนำเงินที่ได้รับชำระหนี้นั้นไปรวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาที่ได้รับชำระหนี้
*หมายเหตุ กรณีการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ตามข้อ 5 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 374 (พ.ศ. 2564) จากหนี้จำนวนไม่เกิน 500,000 บาท เป็นจำนวนไม่เกิน 2,000,000 บาท ซึ่งให้ใช้บังคับสำหรับการดำเนินการที่เริ่มใน รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
สถาบันฝึกอบรม KASME
รหัสสถาบัน 06-153(สภาฯบัญชี)
รหัสองค์กร 3-0011(กรมสรรพากร)
โทร 033 060 395, LINE: KASMETHAI
เว็บไซต์สถาบัน: www.kasmethai.com
สนทนาพาทีภาษาภาษี และบัญชี กับวิทยากรประจำสถาบัน ในกลุ่มกระดานภาษี กระดานภาษี by สถาบัน KASME
Comments