จับตาประเด็นร้อน! มีเงินได้ต่างประเทศ ไม่รอดภาษี พี่สรร(พากร)เตรียมจัด ทุกราย
จับตาประเด็นร้อน!
มีเงินได้ต่างประเทศ ไม่รอดภาษี
พี่สรร(พากร)เตรียมจัด ทุกราย
[ ผู้เขียน - อ.ดำริ ดวงนภา, วันที่ 20/09/66 ]
ประเด็นภาษีที่เป็นที่กล่าวถึงกันในโลกsocial และกำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ คือ คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2566
วันนี้ เราจึงอยากจะมาชวนทุกท่านทำความเข้าใจกันถึงเนื้อหาหลักของกฎหมายตามคำสั่งดังกล่าว เพื่อให้ทราบว่าบุคคลใดต้องเสียภาษี เสียเมื่อใด และจากเงินได้ประเภทใด
ตอนที่ 1 หลักกฎหมาย
มาตรา 41 วรรคสอง เป็นการจัดเก็บภาษีตามหลักถิ่นที่อยู่ (Residence Rule)
เขียนบัญญัติไว้ว่า “ผู้อยู่ในประเทศไทยมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้เมื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย”
แล้วผู้อยู่ในประเทศไทย หมายความว่าอย่างไร เรื่องนี้ต้องดู
มาตรา 41 วรรคสาม ให้ความหมายของคำว่าผู้อยู่ในประเทศไทยไว้ว่า
“ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีปีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย”
สรุป ตามมาตรา 41 วรรคสอง และมาตรา 41 วรรคสาม ก็จะได้ความว่า
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 ก็คือ บุคคลไม่ว่าจะเป็นคนสัญชาติใด ที่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย คืออยู่ในไทยถึง 180 วัน ในปีภาษีหนึ่งๆ (ปีปฏิทิน) และไม่ว่าจะอยู่ต่อเนื่องติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม กรณีคนต่างด้าวก็ดูได้จาก passport แล้วนับรวมกัน กรณีคนไทยก็ดูจากการอยู่ในไทยจริง (ไม่ได้ดูทะเบียนบ้านที่มีชื่ออยู่ เพราะอาจจะไม่ได้อยู่ในไทยจริง) เมื่อบุคคลดังกล่าวมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1)-(8) (เงินได้ 8 ประเภท) และนำเงินได้ที่เกิดนอกประเทศเข้ามาในประเทศไทย ไม่ว่าจะนำเข้ามาในปีภาษีใด จะต้องเสียภาษีเงินได้ให้แก่รัฐบาลไทย กฎหมายนี้ใช้บังคับสำหรับเงินได้ที่นำเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
จึงเห็นได้ว่า สรรพากรเริ่มจับเวลานับถอยหลัง สำหรับผู้มีเงินได้ยังมีเวลาทำ Tax Plan เพื่อการประหยัดภาษี ได้กันจนถึงสิ้นปีนี้
โปรดติดตามต่อไปจากสถาบันคัสเม่ ในตอนที่ 2 ซึ่งจะเป็นรายละเอียด และวิธีการจัดเก็บของกรมสรรพากร โปรดเตรียมพร้อมอัพเดตกันต่อในตอนหน้า สำหรับตอนแรกนี้ ขอกล่าวคำว่า สวัสดี. (ในตอนนี้)
สถาบันคัสเม่ ภาษี บัญชี ฝึกอบรม
Comments