ภาษีการรับมรดก (Inheritance TAX)
สวัสดีทุกท่านกับวันศุกร์ 13 กันยายน ซึ่งตรงกับวันไหว้พระจันทร์พอดีค่ะ
วันนี้ เรามาเติมความรู้ทางภาษีในเรื่องของ "ภาษีการรับมรดก" หรือที่เรียกว่า "Inheritance TAX" กันดีกว่านะคะ ว่าความรับผิดทางภาษีในส่วนนี้ เกิดขึ้นเมื่อใด และใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนดังกล่าว
ในส่วนแรก เรามาทำความเข้าใจกับคำว่า "มรดก" กันก่อน ซึ่งในพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มิได้กำหนดความหมายของมรดกไว้โดยเฉพาะ อ้างอิงความหมายตามมาตรา 1599-1600 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวว่า
เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้น ย่อมตกทอดแก่ทายาททันที โดยมรดกของผู้ตาย ได้แก่
>> ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย
>> สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่างๆ
นั่นก็หมายถึง การรับสืบทอดต่อโดยทายาททั้งในส่วนของทรัพย์สิน และ หนี้สินนั่นเอง อย่างไรก็ตาม เพื่อความเป็นธรรม จึงกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบไว้เพียงไม่เกินมูลค่าของมรดกที่ตนได้รับมา
โดยกองมรดกของผู้ตายนั้น ตกทอดแก่ทายาทที่ชอบโดยสิทธิตามกฏหมาย หรือโดยพินัยกรรม
1.ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมาย ได้แก่ ผู้สืบสันดาน บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ตามลําดับที่กฎหมายกําหนดไว้
2.ทายาทโดยพินัยกรรม ได้แก่ ผู้รับพินัยกรรม
ภาษีการรับมรดก (Inheritance TAX)
ภาษีการรับมรดกจะเกิดขึ้น เมื่อเจ้ามรดกเสียชีวิต โดยผู้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละรายที่ได้รับมรดกสุทธิมาในคราวเดียว หรือรายคราว รวมกันแล้วมีมูลค่าเกินกวา 100 ล้านบาท มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามที่กฏหมายกำหนด
ทั้งนี้ กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีการรับมรดก มีดังนี้
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มรดก มาตรา 1599 - มาตรา 1755 - พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 - พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558 - พระราชกฤษฎีกา กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการผ่อนชำระภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก ได้แก่ ผู้ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับมาจากเจ้ามรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับเป็นมรดก หักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดมาจากการรับมรดกเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท สำหรับผู้รับมรดก ดังนี้
1. บุคคลธรรมดา ได้แก่ บุคคลดังต่อไปนี้ (1) บุคคลผู้มีสัญชาติไทย (2) บุคคลธรรมดาผู้มิได้มีสัญชาติไทย แต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง (3) บุคคลธรรมดาผู้มิได้มีสัญชาติไทย แต่ได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย
บุคคลธรรมดาตาม (1) (2) ให้เสียภาษีจากทรัพย์สินทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและนอกประเทศ บุคคลตาม (3) ให้เสียภาษีจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย
2. นิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย ได้แก่ นิติบุคคลที่ถือว่าเป็นบุคคลมี่มีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559 ดังต่อไปนี้ (1) เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือ (2) นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายในประเทศไทย หรือ (3) เป็นนิติบุคคลที่ผู้มีสัญชาติไทย ถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในขณะมีสิทธิได้รับมรดก หรือ (4) เป็นนิติบุคคลที่ผู้มีสัญชาติไทย เป็นผู้มีอำนาจบริหารกิจการเกินกึ่งหนึ่งของคณะบุคคลซึ่งมีอำนาจบริหารกิจการทั้งหมด
นิติบุคคลตาม (1) – (4) ให้เสียภาษีการรับมรดกจากมรดกที่ได้รับเป็นทรัพย์สินทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและนอกประเทศ
3. กรณีผู้ที่ได้รับมรดกเป็นนิติบุคคลที่มิได้ถือว่าเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทย ตาม 2. แต่ได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ให้เสียภาษีจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย
ที่มา: กรมสรรพากร