1272965523380705 1272965523380705
top of page
Business

ภาษีนอกตำรา

เรื่องที่ 1 ตอน 2: เหตุที่ทำให้สรรพากรไม่มีอำนาจประเมิน สำหรับเคสให้บริษัทฯ กู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย (ตอนจบ) ,เขียนโดย อ.ดำริ ดวงนภา

เรื่องที่ 1 ตอน 2 : เหตุที่ทำให้สรรพากรไม่มีอำนาจประเมิน สำหรับเคสให้บริษัทฯ กู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย [ ติดตาม เรื่องที่ 1 ตอนแรก ได้ที่นี่ ]

1. สรรพากรไม่มีอำนาจประเมิน เนื่องด้วยมีเหตุอันสมควร
 
กรณีอย่างไรจึงถือว่า มีเหตุอันสมควร จนทำให้สรรพากรไม่ใช้อำนาจประเมิน 
ก็มีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะกฎหมายในมาตรา 65 ทวิ(4) แห่งปรก.ไม่มีคำอธิบายหรือให้ความหมายไว้ ดังนั้น ในการตีความว่าการให้กู้มีเหตุอันสมควรหรือไม่ จะต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป ซึ่งจากแนววินิจฉัยของกรมสรรพากร ที่ตอบเรื่องนี้ไว้จำนวนมาก ผู้เขียนมีความเห็นว่า “กรณีที่จะเข้าเหตุอันสมควรนั้น ควรเป็นลักษณะของการให้กู้ยืมโดยความจำเป็นทางธุรกิจที่ไม่ใช่การสมยอมกันระหว่างบริษัทผู้ให้กู้และผู้กู้ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากร” เช่น 

บริษัทลูกหนี้เงินกู้รายหนึ่ง มีเจ้าหนี้มากราย บริษัทฯ เจ้าหนี้จึงมีการตกลงกัน ระงับการคิดดอกเบี้ยจากบริษัทลูกหนี้ ไว้ระยะหนึ่งก่อน เพื่อให้บริษัทลูกหนี้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยไม่ให้ประสบผลขาดทุน กรณีเช่นนี้ถือว่ามีเหตุอันสมควร สรรพากรไม่มีอำนาจประเมินตามมาตรา 65 ทวิ(4) แห่งปรก.(กค 0802/1891-14 ตค.31) 
 
หรือในกรณี บริษัทฯ ออกเงินทดรองจ่ายให้ก่อน แล้วเรียกเก็บเงินคืนภายหลังหากเป็นการทดรองจ่ายโดยแท้จริง เนื่องจากบุคคลหรือกิจการมีความสัมพันธ์กันและมีการจ่ายเงินทดรองจ่าย เป็นครั้งคราวตามประเพณีทางธุรกิจ เช่น บริษัทแม่ในต่างประเทศ ขอให้บริษัทลูกในประเทศไทย ช่วยออกเงินทดรองจ่ายไปก่อน สำหรับ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ของพนักงานของบริษัทแม่ที่เดินทางเข้ามาตรวจงานในประเทศไทย กรณีนี้น่าจะถือได้ว่า มีเหตุอันสมควร  ซึ่งศาลก็ได้เคยมีแนววินิจฉัยเกี่ยวกับเงินทดรองจ่าย ที่ถือว่ามีเหตุอันสมควรไว้ ดังนี้

บริษัท A และบริษัทคู่ค้าได้ตกลงกันให้มีการส่งเสริมการขาย บริษัท A จ้างผู้โฆษณาทำการโฆษณาสินค้าโดยจ่ายเงินทดรองจ่ายไปก่อน แล้วจึงเรียกเก็บจากบริษัทคู่ค้าโดยมิได้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทดรองจ่ายไป เงินดังกล่าวที่บริษัท Aได้ทดรองจ่ายไปในการโฆษณาเพื่อประโยชน์ในทางการค้าของบริษัท A ทำให้สินค้าแพร่หลายอันทำให้บริษัท A ได้รับผลประโยชน์ที่จะได้กำไรจากการขายสินค้า สรรพากรจะถือเอาดอกเบี้ยที่บริษัท A ควรจะได้รับจากเงินทดรองจ่ายมาคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ (ฎีกาที่ 4961/2536)

หรือการให้กู้ยืมกับบริษัทในเครือ ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดบางกรณีก็มีเหตุอันสมควรได้ กรมสรรพากรเคยตอบข้อหารือว่า กรณีบริษัทฯให้บริษัทในเครือกู้ยืมเงินเพื่อแก้ปัญหาทางการเงิน โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ในขณะที่บริษัทฯ จ่ายดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.06 – 0.08 ต่อปี กรณีกู้เป็นเงินเย็น ถือว่ามีเหตุอันสมควรตามมาตรา 65 ทวิ(4) แห่งปรก. (กค 0811/407 – 21มค.43)

2. สรรพากรไม่มีอำนาจประเมินเนื่องด้วยเหตุ อื่น ๆ  

การไม่ใช้อำนาจในการประเมินดอกเบี้ยของสรรพากร ไม่ใช่มีเฉพาะเนื่องด้วย
เหตุอันสมควรแต่เพียงอย่างเดียว บางกรณีสรรพากรเคยตอบข้อหารือว่าเนื่องมาจากเหตุอื่น ๆ ด้วย เช่น บริษัทฯ มีการให้กู้ยืมกันโดยไม่คิดดอกเบี้ย แต่ลักษณะในการให้กู้ยืมกันนั้น สรรพากรไม่มีอำนาจประเมินเนื่องจากไม่อยู่ในบังคับตามกฎหมายนี้  ดังตัวอย่าง

บริษัทในประเทศไทย มีบริษัทต่างประเทศถือหุ้นอยู่ บริษัทในต่างประเทศให้บริษัทในประเทศไทยกู้ยืมเงิน โดยไม่คิดดอกเบี้ย กรณีการกู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามมาตรา 65 ทวิ(4) แห่งปรก. (กค 0804/21012- 24กย.23) คำว่าไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ ก็ตีความหมายได้ว่าสรรพากรไม่อำนาจประเมินนั่นเอง  หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง

กิจการร่วมค้า(Joint Venture) กู้ยืมเงินจากผู้เข้าร่วมลงทุนโดยไม่คิดดอกเบี้ยเนื่องจากกิจการร่วมค้าประสบภาวะขาดทุน มีหนี้สินจากการกู้ยืมเงินจากธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ มีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้จำนวนมาก จึงต้องกู้ยืมเงินจากผู้ร่วมลงทุน โดยไม่คิดดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้เกิดผลขาดทุนมากยิ่งขึ้น ถือว่ามีเหตุอันสมควร บริษัทฯ ผู้ร่วมทุนไม่อยู่ในบังคับมาตรา 65 ทวิ(4) แห่งปรก.(กค 0802/13409 – 25กย.27)

ขอบคุณ สมาชิกคัสเม่ นักบัญชีภาษีอากร และผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามอ่านจนถึงบทจบของ Ep.1 สำหรับข้อเขียนนี้ หากอ่านยาก ง่าย ประการใด สามารถส่ง comment คำติชม ให้ผู้เขียนได้ครับ ผ่านช่องทางการแอดไลน์ ID: KASMETHAI หรือส่งอีเมล์มาที่ mykasme@gmail.com จะมีแอดมินคอยดูแลให้ครับ
   
ติดตามภาษีนอกตำรา บทที่ 2 ในงบการเงินมีเงินสดเหลือจำนวนมาก หรือบางกรณีเป็นเพียงตัวเลขไม่มีอยู่จริง มีปัญหาทางภาษีหรือไม่ พบกันได้ใหม่ในบทหน้าครับ

*สงวนลิขสิทธิ์งานเขียน อ.ดำริ ดวงนภา ข้อมูลทุกรูปแบบที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ www.kasmethai.com และที่ปรากฏตามสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ ภายใต้การดูแลของเว็บไซ์ www.kasmethai.com ห้ามคัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ หรือนำเนื้อหาส่วนหนึ่งส่วนใดในเว็บไซต์ www.kasmethai.com ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร

bottom of page
1272965523380705